[มีสาระ]เรื่องสนุกๆของการ Sound check ก่อนเล่นจริง!!

Sound check ก่อนเล่นมีประโยชน์จริงหรือมั่วนิ่ม? 

โปรดอ่าน! เรื่องนี้เกิดจากความเห็นส่วนตัวล้วนๆ อาจจะมีคนชอบไม่ชอบนะครับ ใช้สติในการอ่านนะครับ จุ๊บๆ  [เพื่อความสนุกและไหลลื่นในการอ่านผมจำเป็นต้องเรียบเรียงประโยคพูดใหม่ อาจมีบางคำที่ไม่ใช่คำที่รับฟังมาจริงๆ ได้โปรดเข้าใจด้วยนะครับ]


ความเดิมตอนที่แล้วแบบเต็ม: (คลิกที่นี่)

     หลังจากที่ทำผลงานออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อมองย้อนและทบทวนขั้นตอนการทำงานทุกๆอย่างทำให้ได้ข้อสรุปว่าควรซาวด์เช็คให้ดีกว่านะ!!

มาทำความรู้จักการ Sound Check กันเถอะ!!

     บอกก่อนว่าวิธีที่ผมจะเขียนลงในบล็อคนี้ผมจะอ้างอิงจากประสบการณ์จากการทำงานและการเรียนของผมเป็นหลักนะครับ(ไม่ใช่ว่าวิธีผมจะเป็นวิธีที่ถูกที่สุด โปรดใช้วิญญาณในการอ่าน อิอิ) ส่วนถ้าใครอยากจะรู้แบบละเอียดผมมีลิงค์มาแนะนำครับ ลิงค์ของ Sound On Sound เขาเขียนได้ละเอียดดีครับลองอ่านดูนะครับเกิดประโยชน์มากๆ เอาล่ะครับผมจะอ้างอิงจากระบบมาตรฐานนะครับ การวางเวที การต่อสายไมค์ การต่ออุปกรณ์ทุกๆอย่าง สมมติว่าทุกอย่างได้ต่อไว้แบบถูกวิธีแล้ว แล้วเราได้ทำงานในตำแหน่งที่เยี่ยม ว๊าวววว อย่างรูปข้างล่าง

     สำหรับผมนะ ผมชอบที่สุดตอนที่ Front of House(บู๊ธที่มีเครื่องเสียงและ Sound engineer ควบคุมอยู่ต่อไปจะเรียกว่า FoH ) อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเวที เพราะว่ามันง่ายมากๆที่จะฟังเสียงและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าสมมติว่างานที่เราต้องทำ เขาดันวางเครื่องเสียงไว้ข้างหลังเวทีนี่จบเลย จำเป็นต้องมีลำโพงมอนิเตอร์ซึ่งต่อระบบไว้เหมือนลำโพง PA(ลำโพงกลางแจ้งในที่นี้จะอยู่หน้าเวที) ไว้ในจุดที่วางเครื่องเสียงเพื่อให้เราสามารถรับรู้ว่าตอนนี้การมิกซ์เสียงข้างนอกเป็นอย่างไร แต่เชื่อผมเถอะว่าการที่เราฟังจากมอนิเตอร์ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนกับเราฟังจากลำโพง PA เพราะข้างหน้าเวทีนั้นมีผู้ชมมากมายแล้วเราก็เป็นคนมิกซ์เสียงให้ท่านผู้ชมเพราะฉะนั้นถ้า FoH อยู่ฝั่งตรงข้ามเวทีอยู่ท่ามกลางผู้ชมนั้นดีที่สุดและต้องเป็น Sweet Spot ด้วยนะครับ(เรื่อง Sweet Spot อ่านต่อได้จากลิงค์นี้ครับ) เพื่อการรับฟังที่ดีที่สุด
     เมื่อเราได้อยู่ในจุดการรับฟังที่ดีที่สุดแล้วและได้ต่ออุปกรณ์เข้าระบบทุกอย่างพร้อม ลำโพงPAพร้อม ลำโพงมอนิเตอร์พร้อม สายสัญญาณต่างๆพร้อม นักดนตรีพร้อม ถ้าเราพร้อมแล้ว ลุยกันเลย!!

ขั้นตอนการ Sound Check ในแบบผมแบ่งเป็น 2 วิธี 1) มีเวลาเยอะแยะ 2) ไม่มีเวลาเลย!!

วิธีที่ 1) ซาวด์เช็คแบบมีเวลาเยอะแยะมีขั้นตอนดังนี้

  1. ตรวจสอบวิธีการเดินระบบ(ต่ออุปกรณ์ สายสัญญาณ ลักษณะการวางลำโพง ฯลฯ)ว่าถูกต้องเป็นไปตามที่คิดหรือไม่?
  2. ทดลองไลน์ไมค์และสัญญาณขาเข้า-ออกทั้งหมด เช่น ใช้ไมค์ 3 ตัว ก็ลองพูดดูว่าไมค์ทั้ง 3 ตัว อยู่ในช่องมิกเซอร์ที่เราต้องการแล้วหรือไม่? ทดลองว่าลำโพงข้างซ้าย-ขวาอยู่ถูกตำแหน่งหรือไม่?(เพราะบางทีเราหรือผู้ช่วยของเราอาจจะต่อสัญญาณสลับข้างที่อุปกรณ์บางจุด) ทดลองว่าลำโพงมอนิเตอร์ใบไหนอยู่ที่ Aux อะไร? เช่น มอนิเตอร์หน้าเวทีเราอาจจะต้องการให้อยู่ที่ Aux 1 เราก็ควรให้มันอยู่ใน Aux ที่เราจัดวางไว้ให้มัน
  3. เมื่อทดสอบว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการปรับ *Graphic EQ(ความรู้แบบเต็มที่ลิงค์นี้)ของมอนิเตอร์และลำโพง PA ด้วยการปล่อย *Pink Noise(เพิ่มเติมที่นี่ สามารถลองกดฟังได้ภายในลิงค์นะครับ) แล้วตัดย่านความถี่ที่เราไม่ต้องการออกจากลำโพงมอนิเตอร์และลำโพง PA เพื่อป้องการไม่ให้เกิดการ *Feedback(เพิ่มเติมในนี้) ของเสียง หรือที่เราเรียกทั่วๆไปว่า ไมค์หอน บรู๊วววววว(ประมาณนั้นครับ อิอิ) หมายเหตุ: ข้อมูลและทฤษฎีต่างๆที่ผมเน้นตัวหนังสือสีแดงไว้จะถูกรวบรวมมาเขียนต่อไปในโอกาสหน้านะครับ
  4. ทดลองเล่นจริงกันไปเลย เช่น ถ้าเป็นคอนเสิร์ตเราก็ลองให้ศิลปินทดลองเล่นในแบบที่เขาอยากเล่นกันไปเลย อยากจะกระโดดร้อง อยากจะนอนร้อง หรือนั่งร้องหน้าลำโพงมอนิเตอร์(จริงๆแล้วไม่สมควรเพราะอาจทำให้ไมค์หอนได้) หรือกำหัวไมค์ร้องแบบนักร้องชื่อดังหลายๆท่าน ซึ่งในขณะที่ทำการซ้อมเล่นจริงนั้นจะทำให้ SE อย่างเราได้มีโอกาสพบเจอปัญหาที่จะเกิดขึ้นเช่น เมื่อเราดัน Gain ของไมค์ร้องดังจนเกินความจำเป็น ก็อาจจะทำให้ไมค์หอน ซึ่งเราก็สามารถลด Gain ไมค์ให้ลงมาถึงจุดที่เหมาะสมได้ จุดที่เหมาะสมของ Gain ไมค์คือตรงไหน? สำหรับผมมันคือจุดที่สัญญาณมาเต็มที่สุดโดยไม่แตก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการร้องทั้งเพลงเช่น เพลงๆนี้มี dynamic การร้องที่โดดขึ้นลงทั้งเพลง(เดี๋ยวร้องเบาแล้วอยู่ๆก็ร้องดังมากๆ) เมื่อถึงท่อนที่ร้องดังมากๆแล้วสัญญาณที่เข้ามาที่ mixer ก็ยังไม่ Peak(Clip สัญญาณสูงเกินขีดจำกัดแล้วแต่จำเรียกครับ แต่ใน mixer ทั่วๆไปจะมีไฟสีแดงไว้คอยเตือนว่า "เฮ้ๆ มันพีคแล้วนะ ลด Gain หน่อยพวกๆ") แต่ท่อนที่ร้องเบาก็ยังได้ยินชัด(ในที่นี้เราอาจจะใช้ *Compressor[Link นี้เลย]ช่วยได้)
  5. เมื่อเราจัดการกับปัญหาไมค์หอนได้หมดแล้วเราก็ส่งสัญญาณเสียงไปยังมอนิเตอร์ต่างๆเช่น ที่นักร้องอาจจะอยากได้ร้องดังสุด รองมาเป็นกีตาร์ กลอง เบส เราก็ทำการส่งสัญญาณเสียงไปให้พวกเขาตามที่เขาต้องการ โดยไม่เกิดการ Feedback 
  6. ปล่อยเสียงทุกอย่างออกมาที่ลำโพง PA เลย คราวนี้แหละ ความมันส์ของจริง!! (นี่เป็นขั้นตอนที่ผมชอบที่สุด เพราะคอนเสิร์ตนี้จะล่มไม่ล่มอยู่ที่ผม 555) หน้าที่เราในขั้นตอนนี้คือปล่อยให้นักดนตรีและนักร้องเล่นเพลงของพวกเขาแล้วเราก็จัดการปรับระดับเสียง(ความดัง)ให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ เช่น เพลงลูกทุ่ง เสียงร้องต้องดังออกมา ตามด้วยเบส Kick แล้วที่เหลือก็ปรับขึ้นมาให้ได้ยินเป็นส่วนประกอบของเพลง หรือถ้าถึงท่อน Solo กีตาร์ เราก็อาจจะดันเสียงกีตาร์ให้ดังและเด่นออกมา ตรงขั้นตอนนี้เป็นความศิลป์ของเราเอง เราสามารถจัดการได้ บางทีเราอาจจะอยากมิกซ์เสียงให้เหมือนในไฟล์เพลงจริงๆก็ได้ หรืออาจจะอยากมิกซ์ตามใจเราก็ได้ แต่ก็ต้องฟังรู้เรื่องนะครับ ไม่งั้นอาจจะโดนด่าได้ 55
  7. รอเวลาเล่นจริง

วิธีที่ 2) ซาวด์เช็คแบบไม่ค่อยมีเวลา(งานด่วน)มีขั้นตอนดังนี้

     มีหลายๆงานที่เราต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้คือเมื่อวงที่เราดูแลอยู่ต้องเล่นคอนเสิร์ตต่อจากวงก่อนหน้าของเราโดยที่เรามีเวลาซาวด์เช็คเพียง 5-10 นาที
  1. ให้วงที่เราดูแลขึ้นไปบนเวที เช็คอุปกรณ์ที่อย่างว่าใช้ได้เช่น ตู้แอมป์กีตาร์ ไมค์ร้อง ไมค์กลอง 
  2. เช็คระดับสัญญาณว่าเข้ามาที่ mixer ในระดับที่เราพอใจ(แบบผมคือมาเต็ม)
  3. ให้ลองเล่นเพลงซัก 1 - 2 ท่อน แล้วจัดส่งสัญญาณเสียงไปที่มอนิเตอร์ต่างๆ เช่น มอนิเตอร์ร้อง มอนิเตอร์กลอง ฯลฯ แล้วรอดูผลที่เกิดขึ้น เช่น ถ้ามีเสียงไมค์หอนอย่างแรกที่เราควรดูคือ Graphic EQ ว่า ได้มีการตัดย่านความถี่ที่ไมค์นั้นจะหอนออกไปแล้วหรือยัง ถ้ายังล่ะก็นะ หึหึหึ พูดเลยว่าเราต้องรีบตัดย่านความถี่นั้นอย่างด่วนๆ จากประสบการณ์ของผมนะครับ มันจะมีอยู่แค่ไม่กี่ความถี่ที่มักจะทำให้ไมค์หอน ประมาน 3-4 ความถี่ ต่องาน เราต้องรีบหาให้เจอครับ เพราะถ้าหมดเวลา 5-10 นาทีทองแล้ว วงของเราต้องเล่นแล้วล่ะก็... ต้องมีคนกร่อยแน่ๆ ผมไม่สามารถบอกความถี่แบบเป๊ะๆให้ได้ เพราะแต่ละงานต่างสถานที่ ต่างเวที ก็ต่างความถี่ครับ แต่ให้เราคิดแบบนี้คือ 1) ความถี่ย่านเสียงต่ำ 2) ความถี่ย่านกลางต่ำ 3) ความถี่ย่านกลางสูง 4) ความถี่ย่านสูง เอาล่ะ ลองดูนะครับ สู้ๆ ต้องใจเย็นๆ อย่าลุกลี้ลุกลน และมีสติตลอดเวลา
  4. เมื่อเราจัดการกับเรื่องมอนิเตอร์เสร็จแล้ว ก็ส่งสัญญาณให้กับวงดนตรีของเราว่า "เฮ้ พวก เราพร้อมแล้ว พวกนายพร้อมรึยัง?" ถ้านักดนตรีตอบว่า "ยัง" ก็ให้เรารอจนกว่าพวกมันจะบอกว่า "พร้อมแล้ว!!" 
  5. เมื่อทุกคนพร้อม เราก็ปล่อยเสียงออกลำโพง PA ไปเลย แล้วก็มิกซ์เสียงในแบบของเราแต่ต้องระวังอย่างนึงคือนอกจากไมค์สามารถหอนจากลำโพงมอนิเตอร์แล้วที่แสบกว่าก็คือหอนจากลำโพง PA ส่วนมากปัญหาการหอนจากลำโพง PA นั้นเกิดจากตำแหน่งการวางลำโพงผิดๆ (สามารถติดตามได้ในกระทู้ต่อๆไปในเรื่องของการ Set up ระบบเสียงครับ)
  6. ควบคุมสติและเสียงไม่ให้มีอะไร วี๊ดว๊าด ในระหว่างเล่นคอนเสิร์ต 
  7. จบงาน ฮี๊วววววววว สบายใจ

สรุปสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวไม่ว่าจะเป็นการซาวด์เช็คแบบมีเวลาหรือไม่ก็ตาม ก็คือ

  1. ตั้งสติก่อนจับเครื่องเสียง ดูว่าเป็นมิกซ์ที่เราเคยใช้หรือไม่? เป็นมิกซ์ดิจิตอลหรืออนาล็อค? ถ้าไม่เคยใช้ แนะนำว่าอย่าทดลองกดปุ่มมั่วๆเอง ให้ถามจากเจ้าของเครื่องเสียงว่า "พี่ครับ ปุ่มนั้นปุ่มนี้ อยู่่ตรงไหนครับ แนะนำผมทีครับ" จะเป็นการทำงานที่ฉลาดที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถรู้ได้ทุกเรื่องหรอกครับ
  2. ลำดับขั้นตอนการทำงานในหัวเสมอว่าเราต้องทำอะไรก่อนหลังและนัดแนะกับนักดนตรีว่าเราต้องการให้พวกเขาทำอะไรและถามจากพวกเขาว่าต้องการอะไรจากเรา
  3. สำคัญที่สุด "มีความสุขกับงานที่ทำและส่งต่อให้คนรอบข้าง"
เป็นยังไงบ้างครับกับขั้นตอนการซาวด์เช็คในแบบของผม มันอาจจะไม่ได้ละเอียดมากและถูกต้องที่สุด(จริงๆแล้วไม่มีวิธีที่ถูกต้องที่สุดครับ เราต้องเลือกวิธีจากประสบการณ์และความรู้ของเราเอง)แต่ผมหวังว่ามันคงจะมีประโยชน์กับคนที่ต้องการแนวทางการปฏิบัติงานนะครับ เพราะชีวิตมันช่างสนุกเหลือเกินถ้าเราทำผลงานออกมาได้ดีและมีความสุขกับงาน
ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ แล้วพบกันใหม่ในกระทู้ต่อๆไปนะครับ

สนใจเรียนพิเศษที่บ้านกับติวเตอร์จากสถาบันชื่อดังได้ที่
www.hqtutorhome.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

[รีวิว] เรื่องกินสนุกๆจนเป็น ริดสีดวง และวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด

(มีคลิป)สอนเล่น Vindictus เกมใหม่สุด Sexy ของ Garena

มารู้จักกับเกม Clash of Clans เกมที่นางเอกตัวแม่ อย่างพี่อั้ม พัชราภา ยังเล่น(สวยและเล่นเกมแบบนี้ จ๊าบไปเลย!)